วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

บทความทางการศึกษา

ถ้าครู หยุดเรียนรู้ ... ครูก็ต้อง หยุดสอน..!?!

โดย รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์


โลกยุคการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) ซึ่งเป็นยุคที่ ความรู้คือพลัง คืออำนาจถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ล้วนต้องการทรัพยากรมนุษย์ที่รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ไม่เว้นแม้แต่แวดวงการศึกษา ก็ต้องการ ครูที่ไม่หยุดเรียนรู้เช่นกัน...

การใฝ่หาความรู้ของครูในยุค KM นั้น ไม่ใช่มีการใฝ่หาความรู้เชิงวิชาการเท่านั้น แต่จำเป็นต้องใฝ่หาความรู้แบบรอบด้าน เนื่องจาก ครูเป็นทั้ง คัมภีร์ที่มีชีวิตที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการถ่ายทอด ความรู้ที่ชัดแจ้ง” (Explicit Knowledge) ซึ่งเป็นความรู้ที่สามารถรวบรวม ถ่ายทอดได้ โดยผ่านวิธีต่าง ๆ เช่น หนังสือตำราเรียน ทฤษฎี คู่มือต่าง ๆ และบางครั้งเรียกว่าเป็น ความรู้แบบรูปธรรม

นอกจากนั้น ยังเป็น ตัวจักรที่ผลักดันให้ ความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวบุคคล” (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ พรสวรรค์หรือสัญชาติญาณของแต่ละบุคคลในการทำความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ เป็นความรู้ที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดหรือลายลักษณ์อักษรได้โดยง่าย เช่น ทักษะในการทำงาน หรือการคิดเชิงวิเคราะห์ โดยบางครั้งเรียกว่าเป็น ความรู้แบบนามธรรมได้ถูกนำมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ดังนั้น ครูมืออาชีพยุค KM” จึงต้องเป็นได้มากกว่าผู้ถ่ายทอดความรู้ จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาดูงานด้านการศึกษากับคณะของปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ TDA (Training and Development Agency for Schools) ซึ่งเป็นหน่วยงานฝึกและพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษาของประเทศอังกฤษ ทำให้สรุปได้ว่ากรอบลักษณะของ ครูอุดมคตินอกจากจะต้องมีสัมพันธภาพที่ดีกับเด็กแล้ว ยังควรเป็นบุคคลที่มีความยุติธรรม มีความน่าเคารพเชื่อถือ และเป็นกำลังใจให้เด็กในการเรียนรู้ และแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิต โดยครูจะต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจในการเพิ่มเติมองค์ความรู้ตลอดเวลา และประพฤติตนเป็น ต้นแบบของการคิดดี ทำดี พูดดี

การอบรมสั่งสอนเด็กจะให้ได้ผลนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างโรงเรียน บ้าน และชุมชนที่อยู่แวดล้อมตัวเด็ก เพื่อให้เด็กมีสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับพัฒนาการ โดยวิธีการเรียนแบบมีส่วนร่วม ( Collaborative Learning) ถือเป็นวิธีที่สามารถพัฒนาความรู้ ทักษะในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำงานร่วมกับผู้อื่น

สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับครู คงหนีไม่พ้นการพัฒนาศักยภาพของตนเอง โดยเฉพาะการรู้จักสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการสอนในรูปแบบใหม่ๆ เปิดใจให้กว้างพร้อมที่จะรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และนำคำวิจารณ์เหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการสอนให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็ก

เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติของ ครูก็คงต้องพูดตรงตรงว่าการเป็น ครูตามทฤษฎีเป็นเรื่องที่ทำได้ยากซะยิ่งกว่ายาก โดยเฉพาะการเป็น ครูไทยในยุค ข้าวแพงแต่เงินเดือนน้อยที่ต้องผจญกับสภาวะ ปากกัดตีนถีบที่ลำพังจะเอาตัวเองให้รอดก็แสนจะยากเย็น แล้วยังต้องมาแบกรับภาระอันหนักหน่วงจากการดูแลเยาวชนของชาติ ก็คงต้องบอกว่าครูยุคนี้ต้องมี จิตวิญญาณของความเป็นครูแบบเข้มข้นสุดสุด”...

แม้การเป็น พ่อพิมพ์ แม่พิมพ์จะยากลำบาก แต่เมื่อเลือกเป็น ครูก็ต้องไม่หยุดเรียนรู้ เพราะหาก หยุดเรียนรู้ ก็คงไม่ต่างจากการหมดคุณค่าของการเป็น ครู”...

แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นจริงจริงก็ควร หยุดสอนไปเลยจะดีกว่า..!!


ที่มา - สยามรัฐ 24/4/2551

ขอบคุณที่มา: วารสารเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้บนโลกออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น